Architect Talk

Wabi Sabi ความงามจากร่องรอยกาลเวลา

#WabiSabi การชื่นชมความงามและองค์ประกอบเล็กๆน้อยๆ ที่เร […]

#WabiSabi การชื่นชมความงามและองค์ประกอบเล็กๆน้อยๆ ที่เรียงร้อยจากร่องรอยกาลเวลา “วาบิซาบิ”

———————————————–

▪️ อะไรคือ วาบิซาบิ
หลายคนอาจกำลังสงสัยตอนนี้ อย่างแรกคือ มันคนละอย่างกับวาซาบิที่กินกับปลาดิบแน่นอนครับ วาบิซาบิเป็นอีกแนวทางปรัชญาของญี่ปุ่น ที่เกิดจากปรัชญาทางพุทธแบบเซนของญี่ปุ่น
.
วาบิซาบิ มาจาก 侘寂(Wabi-Sabi) ที่แปลว่าความไม่สมบูรณ์แบบ และ ความไม่ยั่งยืน เป็นการสอนของพระเซน หมายถึงทุกสิ่งล้วนย่อมเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ลองนึกภาพตามถึงสิ่งเหล่านี้ จะช่วยให้ท่านเห็นภาพชัดขึ้น อย่างเช่น ร่องรอยของไม้เก่าที่ผ่านเวลายาวนาน กำแพงอิฐที่ปกคลุมด้วยตะไคร่ หรือ รูปปั้นโลหะที่เกิดสนิม มันคือการเห็นความงามจากความไม่สมบูรณ์ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าเป็นปรัชญาที่งดงามมาก
.
ซึ่งทำให้แนวคิดนี้มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และเป็นรากวัฒนธรรมให้หลายแขนงศาสตร์ อย่างเช่น พิธีชงชาของญี่ปุ่น ที่จัดในอาคารเรียบง่ายขนาดเล็ก อยู่กลางสวนที่ต้องเดินผ่านแผ่นหิน หรือการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น ที่มีการแซมกิ่งไม้แห้ง ก็ล้วนสื่อถึงความงามจากความไม่สมบูรณ์
.
รวมทั้งงานดีไซน์ ก็มีการนำหลักคิดนี้มาใช้ รวมถึงสถาปัตยกรรมสไตล์โมเดิร์นปัจจุบัน ก็สามารถนำแนวคิดวาบิซาบิมาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน

———————————————–

▪️ แนวคิดวาบิซาบิ กับงานสถาปัตยกรรม การมองมุมกลับปรับมุมมอง
แนวคิดที่ว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ เราจะเห็นได้จากพวกบรรดางานสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นที่ทำจากไม้ การไม่ฝืนธรรมชาติ ปล่อยให้เกิดคราบร่องรอยกาลเวลาบนตัวอาคาร รอยแตกของไม้ ความซีดจากการถูกแดดเลีย มอสที่ปกคลุมหินทางเดิน กลายเป็นความงามที่ไม่สามารถเกิดขึ้นในฉับพลัน หากแต่ผ่านคืนวันอันยาวนาน สร้างความนอบน้อมและการเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น
.
ผมว่ามนุษย์เราจะค่อนข้างเกร็งที่จะจับหรือแตะอะไรที่มันดูใหม่หรือเนี๊ยบเกินไป มันรวมถึงการอยู่ในอาคารที่โมเดิร์นจนเกินไป คนเราจะค่อนข้างรู้สึกผ่อนคลายกว่าเวลาอยู่ในอาคารที่ดูเก่าหน่อยและดูเรียบง่าย ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นต่อจิตใจและเชื่อมโยงกับความทรงจำได้
.
ซึ่งแนวคิดแบบวาบิซาบิ กลายเป็นแนวทางที่ฉีกกฎแนวคิดพวกอาคารจะต้องดูสมบูรณ์แบบ ดูงดงามไร้กาลเวลา ซึ่งออกจากฝืนธรรมชาติมาก
.
การยอมรับความเปลี่ยนแปลง การมองร่องรอยกาลเวลาที่จารึกบนอาคารเป็นความงาม ทำให้มุมมองอาคารนั้นๆเปลี่ยนไป เราอาจจะเกิดความสุขเพิ่มขึ้นมาก จากการชื่นชมและมีความสุขกับการยอมรับความไม่สมบูรณ์

———————————————–

▪️ วาบิซาบิ กับอาคารโมเดิร์น

อาคารโมเดิร์น ที่ใช้วัสดุที่ไม่ใช่วัสดุธรรมชาติ อย่าง กระจก หรือ คอนกรีต ก็สามารถแสดงออกถึงความวาบิซาบิได้ อย่างเช่น สถาปนิกชื่อดังในญี่ปุ่น อย่างคุณทาดาโอะ อันโดะ ผู้ออกแบบอาคารคอนกรีตที่โด่งดังอย่าง Church of light และได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย คุณอันโดะออกแบบอาคารโมเดิร์นกับความวาบิซาบิได้น่าสนใจ
.
โปรเจค Awaji Yumebutai complex ที่เป็นอนุสรณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น มีการออกแบบด้วยรูปทรงเรขาคณิตคอนกรีต แต่อาคารบางส่วนก็ค่อยๆ ถูกต้นไม้ขึ้นปกคลุม พื้นที่สีเทาของคอนกรีต ค่อยๆถูกปกคลุมด้วยสีเขียวจากต้นไม้ไปเรื่อย ๆ ในแต่ละปี เกิดเป็นความงามที่ลงตัวอันเกิดจากกาลเวลา และความไม่สมบูรณ์เพราะอาคารเรขาคณิตที่ถูกต้นไม้คลุม กลับทำให้อาคารดูอ่อนโยนและมีเสน่ห์มากขึ้น
.
หรืออาคารโมเดิร์นประเภทบ้าน ใครที่ชอบแนวคิดนี้ ก็นำไปปรับปรุงบ้าน เติมความวาบิซาบิได้ เช่น มีการนำงาน Craft มือ มาเป็นส่วนประกอบร่วมกับงานอาคารโมเดิร์น การเลือกวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้และหิน มาสร้างบรรยากาศที่ Rustic ขึ้น จากเส้นสายเรียบตรง มีความไม่สมบูรณ์สอดแทรก ช่วยลดทอนความเนี๊ยบและสร้าง texture ที่แตกต่าง รวมถึงการใช้สีเอิร์ธโทนและสีธรรมชาติเป็นหลักในงาน การลดวัสดุที่แวววาว ก็ล้วนช่วยให้งานของเราออกมาดูวาบิซาบิขึ้น
———————————————–

อย่างไรก็ตาม การชื่นชมในความงามที่ผ่านกาลเวลา และการชื่นชมความไม่สมบูรณ์ ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ต้องจัดการ หรือดูแลอาคารเลยนะครับ การดูแลซ่อมบำรุงอาคารและเฝ้าระวัง เช่น รอยแตก รอยร้าว ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องพึงระวัง ความโรแมนติกเชิงปรัชญาแบบวาบิซาบิ กับความปลอดภัยในอาคารควรคำนึงควบคู่กันไป
.
อ้างอิง
https://kiji.life/wabisabi/
https://www.zenvita.com/blog/wabi-sabi-in-architecture.html

Related Posts

Your cart

No products in the cart.