#สังคมผู้สูงอายุ #AgingSociety
สังคมที่ผู้สูงอายุกลายเป็นประเด็นสำคัญของทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยเรา ทำให้เทรนด์การออกแบบอาคาร หรือโครงการต่างๆ ในปัจจุบันและอนาคต จะต้องคำนึงถึงการใช้งานของผู้สูงอายุเป็นสำคัญ ซึ่งวันนี้ทาง KENZAI จะมาแนะนำแนวคิดการออกแบบสำหรับผู้สูงอายุกันครับ
—————————
▪️ อะไรคือสังคมผู้สูงอายุ
สังคมผู้สูงอายุคืออะไร หลายคนอาจเคยได้ยินแต่ไม่แน่ใจ ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตได้ให้ความหมายไว้ว่าเป็นสังคมที่มีคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เกิน 20% ของประชากรประเทศ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยเราก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว ด้วยพัฒนาการทางการแพทย์ที่ดีขึ้นและอัตราการเกิดลดลง
—————————
▪️ ทำไมสถาปัตยกรรมจึงควรคำนึงและออกแบบเพื่อรองรับผู้สูงอายุ
บางท่านอาจคิดว่าทำไมต้องออกแบบรองรับด้วย ผมอยากบอกว่าแม้บางโครงการ กลุ่มคนใช้งานพุ่งเป้าที่คนวัยหนุ่มสาว แต่อาคารที่ดีก็ควรคำนึงถึงผู้ใช้งานทุกประเภท โครงการท่านก็อาจมี user ที่เป็นผู้สูงอายุแวะเวียนมาใช้งาน เป็นหน้าที่ผู้ออกแบบที่ต้องคอยตระหนักถึงเรื่องนี้
.
รวมถึงโครงการประเภทโรงแรมและรีสอร์ทต่างๆ ก็ควรจะออกแบบบางส่วนของจำนวนห้องที่มี เพื่อรองรับผู้สูงอายุ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นตลาดที่สำคัญของอุตสาหกรรมในอนาคต และมีจำนวนมากขึ้น
.
แม้แต่อาคารประเภทบ้านพักอาศัย เราเองก็อาจไม่ได้อยู่คนเดียว บางบ้านมีคุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่ ปัจจุบันตอนนี้พวกท่านยังแข็งแรงอยู่ แต่การคำนึงถึงเรื่องผู้อายุไว้แต่แรกก็มีข้อดี เพราะการทำบ้านหรือสร้างบ้านแต่ละครั้งก็ใช้ทรัพยากรมากและไม่ทำกันได้บ่อยๆ หากท่านต้องรีโนเวทหรือทำบ้านทั้งที ก็ควรออกแบบให้ถี่ถ้วน ตระเตรียมสำหรับอนาคตเอาไว้ จะได้ไม่ต้องมารื้อทุบบ้านกันอีกหลายรอบ รวมถึงป้องกันอันตรายต่อญาติผู้ใหญ่ของท่านด้วย
—————————
▪️ สถาปัตยกรรมประเภท Elderly house และ Retirement
เป็นอาคารที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศโดยเฉพาะในตะวันตกและญี่ปุ่น ซึ่งมีปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุ หลายคนไม่ได้มีคนคอยดูแล ดังนั้นการย้ายไปอยู่ในสถาน Retirement จึงตอบโจทย์ และสถานที่เหล่านี้ก็มีการออกแบบให้ดูสวยงาม ไม่จำเป็นจะต้องดูหน้าตาขึงขังแบบโรงพยาบาล อย่างในภาพจำของคนหลายคนอีกต่อไป สามารถมีหน้าตาแบบรีสอร์ทหรือบ้านพักได้ เป็นที่พักผ่อนอยู่อาศัยยามบั้นปลายของชีวิต
.
อาทิ โครงการบ้านพักผู้สูงอายุ ที่เมือง Rikuzentakata ประเทศญี่ปุ่น ออกแบบโดยมหาวิทยาลัยโตเกียวร่วมกับทีมสถาปนิกอย่าง DOG โครงการเป็นบ้านพักผู้สูงอายุที่ออกแบบเป็นสไตล์บ้านแบบญี่ปุ่น การเลือกใช้ไม้สีอ่อนสร้างบรรยากาศ Homey ดูคุ้นเคยและอบอุ่น แต่ละห้องเชื่อมด้วยโถงทางเดินไปสู่พื้นที่ Common space ให้ผู้สูงอายุได้มาพบปะพูดคุยกัน
.
ทีมออกแบบก็ใส่การออกแบบที่รองรับผู้สูงอายุไปพร้อมกับสไตล์ญี่ปุ่นได้อย่างน่าสนใจ อาทิ การทำราวจับข้างผนังที่กลมกลืนไปกับผนังไม้แบบญี่ปุ่น ที่นั่งพักแต่ละจุดก็ใช้เครื่องเรือนไม้ ให้ความรู้สึกเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน การออกแบบประตูและทางเดินที่กว้างให้รถเข็นสามารถผ่านเข้าไปได้ รวมถึงการออกแบบห้องน้ำ ที่ยังคงวัฒนธรรมญี่ปุ่น อาทิการแช่น้ำร้อนโดยออกแบบอ่างให้มีราวจับที่ให้ผู้สูงอายุใช้งานโดยสะดวก เป็นต้น
.
เป็นตัวอย่างที่ดีว่า อาคารสำหรับผู้สูงอายุสามารถเป็นสไตล์อะไรก็ได้ สำคัญคือ องค์ประกอบต่างๆ และดีเทลที่รองรับการใช้งานของผู้สูงอายุ
—————————
▪️ การออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ
สำหรับหลายคน ที่กำลังจะทำอาคารสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้คุณภาพชีวิต และพวกท่านสามาถใช้งานได้อย่างมีความสุข
ข้อคำนึงที่แนะนำโดยกรมกิจการผู้สูงอายุ และ สสส. พอจะยกตัวอย่างได้ คือ ต้องใช้งานสะดวก โดยผู้สูงอายุ
- อุปกรณ์ และเครื่องเรือน ต่างๆ
พวกสวิตช์ไฟ หรือ ปลั๊กไฟ ก็ดี ในบ้านที่มีผู้สูงอายุ ผมแนะนำว่าควรติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ให้ อยู่ในระดับที่ไม่สูงไป ไม่ต่ำไป เช่น ความสูงที่ราว 90 ซม. จากพื้นห้อง เพื่อที่พวกท่านจะได้ไม่ต้องคอยก้มๆเงยๆในการใช้งาน รวมถึงยังเป็นระยะพอหยิบจับได้จากรถเข็น
.
เตียงนอนของผู้สูงอายุไม่ควรสูงหรือต่ำเกินไป คำแนะนำของ สสส. คือ เตียงสูงราว 40 ซม. ซึ่งจะพอดีกับรถเข็น ฟูกควรจะเลือกให้เหมาะสมกับพวกท่าน เช่น ที่นอนแบบลม ที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการป้องกันเรื่องแผลกดทับ เป็นต้น
—————————
▪️ ประตู และความปลอดภัย
ซึ่งประตูมือจับที่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุ คือควรจะเป็นแบบก้านโยกที่ไม่หลุดง่าย เปิดโดยสะดวก และถ้าเป็นไปได้ หากสามารถเปลี่ยนประตูในอาคารได้ ควรให้เป็นแบบบานเลื่อนได้จะดีกว่า เพราะผู้อยู่บนรถเข็นสามารถเปิดได้สะดวกและไม่ใช่แรงมาก ความกว้างไม่ต่ำกว่า 90 ซม. และไม่มีธรณีประตู เพื่อป้องกันการสะดุดล้ม
.
เรื่องความปลอดภัยของผู้สูงอายุก็เป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งอาจลืมการล็อกกุญแจ หรืออาจเผลอล็อกห้องโดยที่ยังอยู่ภายใน ลูกหลานสามารถนำอุปกรณ์สมาร์ทเฮาส์มาช่วยได้ เช่นบรรดามือจับแบบก้านโยกอัจฉริยะที่ควบคุมได้ทั้งแบบมือจับและการสั่งการผ่านสมาร์ทโฟน ให้ลูกหลานที่อยู่ห่างไกล สามารถสั่งเปิดประตูในยามฉุกเฉินจากระยะไกลได้ รวมถึงตรวจเช็คการล็อกประตูหน้าต่างในบ้านในยามวิกาลได้
—————————
▪️ บันได และการเชื่อมต่อพื้นที่ด้านบนด้านล่าง
บันไดเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงอย่างมาก เพราะเป็นโครงสร้างที่ไม่สามารถทุบรื้อเปลี่ยนได้ง่าย บ้านหรือโปรเจคที่มีผู้สูงอายุ ควรออกแบบบันไดให้ขั้นไม่สูงเกิน 15 ซม. ให้เป็นระยะที่ผู้ใหญ่ท่านก้าวสบาย มีขั้นบันไดที่กว้าง มีชานพักขนาดใหญ่เผื่อการพักระหว่างเดินขึ้นลง และมีราวจับที่มั่นคงแข็งแรง หยิบจับสะดวก
.
และหากท่านมีพื้นที่เหลือพอ ก็อาจออกแบบช่องเปิดระหว่างชั้นไว้ หรือคิดพื้นที่เผื่อการติดตั้งลิฟท์บ้านในอนาคตได้เช่นกัน
—————————
▪️ พื้น และ ห้องน้ำ
ระดับพื้นสำหรับอาคารที่ผู้สูงอายุใช้งาน ควรเป็นระดับเดียวกันทั้งชั้น ไม่ควรทำต่างระดับเพื่อป้องกันการสะดุดล้ม
.
สิ่งที่ต้องคำนึงอย่างมาก ๆ ในบ้านที่มีผู้สูงอายุ คือการออกแบบพื้นที่ไม่ลื่นครับ ซึ่งการเกิดอันตรายของผู้สูงอายุในบ้านมักจะเกิดจากการลื่นล้มจากพื้นที่ลื่น โดยเฉพาะในห้องน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาถึง 80% ของอุบัติเหตุภายในบ้าน
.
การออกแบบห้องน้ำ ควรจะเผื่อระยะให้รถเข็นสามารถเข้าไปได้ อย่างน้อยห้องหนึ่งในบ้าน เราควรออกแบบให้มีที่นั่งสำหรับอาบน้ำ ให้ผู้สูงอายุ สามารถนั่งอาบฝักบัวได้โดยสะดวก เป็นฝักบัวแรงดันต่ำปรับระดับความแรงของน้ำได้ อ่างล้างหน้าควรเป็นแบบเว้า และข้างใต้โล่ง เพื่อให้รถเข็นสามารถเข้าไปใช้ได้ และติดตั้งมือจับที่แข็งแรงสองฝั่งของอ่าง ให้ผู้สูงอายุสามารถใช้พยุงตัวได้
.
รวมถึงโถสุขภัณฑ์ที่สามารถนั่งราบได้ มีพนักพิง สูงจากพื้น 45 ซม. มีมือจับแข็งแรงสองข้างสูง 90 -100 ซม.เพื่อการพยุงตัวขณะลุกนั่ง รวมถึงการติดตั้งกริ่งสัญญาณฉุกเฉินเอาไว้ข้างผนังที่ความสูงไม่เกิน 90 – 100 ซม.
.
ห้องน้ำควรออกแบบให้มีความกว้างประมาณ 150 – 200 ซม. ไม่กว้างไปหรือแคบไป ให้ผู้สูงอายุสามารถนำรถเข็นเข้าไปในห้องน้ำได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรให้ห้องน้ำโล่งจนเกินไป เพื่อป้องกันการล้ม ควรมีราวจับที่แข็งแรงข้างผนังให้พวกท่านสามารถใช้จับพยุงตัวได้
.
และไม่ควรติดตั้งผนังกระจกกั้นโซนเปียกโซนแห้งที่อาจเป็นอันตรายเวลาลื่นไปโดน ท่านสามารถเปลี่ยนไปใช้เป็นผ้าม่านอาบน้ำกั้นโซนแทนได้ ซึ่งสามารถใช้จับพยุงตัวตอนล้มซึ่งจะปลอดภัยกว่าล้มแล้วจับโดนผนังกั้นกระจกมาก
ผมแนะนำด้วยความห่วงใยว่า เราควรพิถีพิถันในการเลือกวัสดุปูพื้นห้องน้ำซักหน่อย สิ่งสำคัญคือการเลือกใช้วัสดุปูพื้นที่มีคุณสมบัติกันลื่น อาทิ กระเบื้องที่ออกแบบมาอย่างดีคำนึงถึงการใช้งานสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เพื่อความปลอดภัยของญาติผู้ใหญ่ในบ้าน และเมื่อติดตั้งร่วมกับราวจับภายในห้องน้ำ ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดอันตรายได้
—————————
▪️ ห้องครัว
อีกจุดหนึ่งที่ผมว่าควรระวังไม่แพ้กันคือ พื้นที่ในครัว เพราะมีโอกาสเกิดพื้นลื่นได้จากคราบน้ำหรือคราบไขมัน การเลือกวัสดุปูพื้นห้องครัวก็ควรเลือกวัสดุกันลื่น เป็นบรรดากระเบื้องที่ออกแบบให้มีค่ากันลื่นที่สูงเป็นต้น
.
และบรรดาเคาน์เตอร์ห้องครัว สูงไม่น้อยกว่า 75 ซม. และควรมีด้านล่างเปิดโล่งให้รถเข็นใช้งานได้ และบรรดาตู้ต่างๆ ก็ไม่ควรตั้งสูงเกินไป จนผู้สูงอายุไม่สามารถเอื้อมหยิบถึง อ่างล้างจานก็ไม่ควรลึกเกินไป ควรเป็นอ่างแบบตื้นให้สามารถหยิบจับได้โดยสะดวก
—————————
▪️ พื้นภายนอกอาคาร
อีกจุดหนึ่งที่เกิดการลื่นล้มได้ ก็คือ บรรดาพื้นภายนอกอาคาร ทั้งพื้นทางเดินในสวน พื้นที่ชานระเบียง และ พื้นลานจอดรถ พื้นที่เหล่านี้มักเป็นอีกจุดที่เราอาจจะไม่ได้ใส่ใจ หรือกังวลเท่าพื้นห้องน้ำ แต่พื้นภายนอกมักโดนแดดโดนฝน เกิดคราบเชื้อราและเกิดตะไคร่เกาะ หรือคราบน้ำผสมคราบฝุ่นกลายเป็นจุดที่อันตรายได้เช่นกันครับ
.
ทางที่ดี ก็คือการเลือกวัสดุที่กันลื่นเช่นกัน ควรเลือกคุณสมบัติทนทานและสามารถทำความสะอาดได้ง่าย ซึ่งกระเบื้องปูพื้นจะค่อนข้างตอบโจทย์ดังกล่าว นอกจากเรื่องความสวยงามแล้ว ยังมีความแข็งแรงทนทาน รองรับน้ำหนักได้มาก ป้องกันคราบเชื้อราได้ และเมื่อเลือกรุ่นที่มีค่ากันลื่นสูง ก็จะลดโอกาสที่ผู้สูงอายุใช้งานจะเกิดอุบัติเหตุได้มากครับ
.
และการเลือกกระเบื้องพื้นสำหรับผู้สูงอายุ ไม่ควรเป็นพื้นที่มีลวดลายหรือวางแพทเทิร์นมากเกินไป เพราะอาจทำให้ท่านสายตาพร่ามัวหรือวิงเวียนเวลามองพื้นได้ รวมถึงหลีกเลี่ยงกระเบื้องสะท้อนแสงแยงตา ควรเลือกเป็นกระเบื้องสีเอิร์ธโทน สีแบบธรรมชาติ หรือสีโทนกระเบื้องดินเผา จะเหมาะสมกว่า
.
สิ่งเหล่านี้เป็นคำแนะนำในการคำนึงถึงเวลาออกแบบโครงการสำหรับผู้สูงอายุ จากความปรารถนาดีของทางเพจ KENZAI ครับ หากท่านใดกำลังสนใจกระเบื้องปูพื้นที่ตอบโจทย์ป้องกันเรื่องการลื่นล้ม สามารถติดต่อสอบถามขอข้อมูลเพิ่มเติมหรือคำแนะนำกับทางเพจเราได้เลยครับ
.
หากท่านใดสนใจกระเบื้อง จาก Kenzai สามารถติดต่อ-สอบถามได้ที่
Inbox : http://m.me/kenzaiceramics
Line : https://lin.ee/8OWMij2
Tel : 02 692 5080-90