Architect Talk

Architecture of Memory ความทรงจำที่สถาปัตยกรรมมีต่อผู้คน

“มันไม่มีความทรงจำที่เกิดจากการไร้ตัวตน”  คำของนักปรัชญ […]

“มันไม่มีความทรงจำที่เกิดจากการไร้ตัวตน” 

คำของนักปรัชญาชาวอเมริกา Edward Casey จากหนังสือเรื่องRemembering: A Phenomenological Study และมนุษย์อาศัยสิ่งที่มีตัวตนอย่างสถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือน เป็นเครื่องมือในการสร้างความทรงจำ

.

การที่เกิดเหตุการณ์อาคารสำคัญ หรืออาคารที่โดดเด่น จะโดนเปลี่ยนแปลงหรือ โดนทุบทำลาย ย่อมเกิดความเสียดาย ความหวงแหนของผู้คนที่รู้จักและคุ้นเคยกับอาคารเหล่านั้น อย่างเช่น อาคารสถานีรถไฟหัวลำโพง ที่มีข่าวว่าการรถไฟจะยุติการให้บริการ ก็มีผู้คนจำนวนมากพูดถึงและหวงแหนมัน
.

ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องราวของสถาปัตยกรรมและความทรงจำของผู้คนกันครับ ว่ามันส่งผลต่อกันอย่างไรบ้าง

—————————–

  • A tool to imagine

อาคาร สถาปัตยกรรม หรือ อนุสาวรีย์ มันมีพลังที่สร้างความรู้สึกร่วม สร้างความทรงจำร่วมต่อพื้นที่แห่งนั้น สถาปัตยกรรมกลายเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราว มีความหมายแตกต่างกันไปตามเหตุการณ์คนที่ได้ประสบ เรื่องเล่า หรือความทรงจำที่มีต่อสถานที่นั้น เป็นส่วนช่วยสร้างจินตนาการถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้น อย่าง จัตุรัสไทม์สแควร์ในเมืองนิวยอร์ค บางคนอาจคิดถึงเรื่องงานรื่นเริงที่จัดตอนปีใหม่ หรือบางคนอาจคิดถึงพื้นที่สาธารณะในการประท้วง

.

ตัวพื้นที่และสถาปัตยกรรม มีพลังในการเล่าและช่วยจินตนาการ เมื่อยามเราได้ไปอยู่ในสถานที่จริง เราจะพอสัมผัสได้ถึงเหตุการณ์เหล่านั้น แม้อาจจะไม่ได้เข้มข้นเท่าคนที่เคยใช้งานจริงในช่วงเวลาอดีตก็ตาม อย่างเช่น โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง หากเราไปในปัจจุบัน เราอาจจะไม่ได้รู้สึกอิ่มเอมเหมือนคนรุ่นคุณปู่คุณย่า ที่ท่านเคยมาโรงภาพยนตร์แห่งนี้ครั้งยังรุ่งเรือง 

.

แต่สถานที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงที่ยังคงตั้งอยู่ เมื่อเราคนรุ่นใหม่เข้าไปก็ยังสามารถเห็นบรรยากาศเก่า ๆ ทำให้เราเข้าใจและเห็นคุณค่ามันได้ สถาปัตยกรรมยังคงเดิม ที่นั่งและเวทียังคงอยู่ แม้การใช้งานจะเปลี่ยนไป แต่มันก็ยังคงสานต่อเรื่องราวและความทรงจำ

—————————–

  • Loosing memories

ขณะเดียวกันหากสถานที่แห่งนั้นถูกทำลายไปแล้ว ความหมายและความทรงจำจะเลือนหายไปตามกาลเวลา หากยกตัวอย่างยุคใกล้ก่อนหน้า ที่คนจำนวนมากในกรุงเทพรู้จักกันดี อย่างเช่น เซ็นเตอร์ พ้อยส์ ลานน้ำพุแห่งสยามสแควร์ ที่หากไปถามคนเจนเอ็กซ์ เจนวาย คงเล่าด้วยความชื่นชม ถึงพื้นที่พบปะพบเจอผองเพื่อนยามวัยรุ่น ที่พบปะดารา สถานที่แห่งความทรงจำที่งดงาม 

.

แต่เราไปบอกเด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ย่อมไม่มีคนนึกออก เพราะสถานที่มันถูกทำลายเปลี่ยนไปแล้ว แม้จะดูจากรูปถ่ายและเรื่องเล่า ก็ไม่เท่ากับการได้อยู่ในสถานที่จริง เรื่องราวของลานน้ำพุแห่งความทรงจำวัยรุ่น 90 จึงค่อย ๆ เลือนหายไป

—————————–

  • Adaptive reuse

แน่นอนว่า เราปฎิเสธไม่ได้ถึงมูลค่าที่ดินและโลกทุนนิยม การให้คุณค่าเรื่องธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญมาก อาคารเก่าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่มูลค่าเศรษฐกิจมหาศาล การคงรูปลักษณ์หรือฟังก์ชั่นแบบเดิมย่อมไม่ตอบโจทย์ แน่นอนว่าคนอนุรักษ์และผู้ชื่นชมประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่มองไม่ออก แต่การหาทางออกร่วมกันระหว่างคุณค่าอาคาร กับ คุณค่าทางเศรษฐกิจ มันสามารถเกิดขึ้นได้

.

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจอย่าง แนวคิดการปรับเปลี่ยนการใช้งาน หรือต่อเติม ก็เป็นสิ่งที่อาคารสำคัญในต่างประเทศทำกัน เพื่อให้การรักษาอาคารยังคงอยู่และตอบโจทย์รายได้และสร้างมูลค่าต่อเจ้าของ อาทิ โรงละคร Tower theatre ที่ลอสแองเจลิส ที่อเมริกา ที่มีการรักษาอาคารและเปลี่ยนการใช้งานภายในไปเป็น แอปเปิ้ล สโตร์ เป็นการปรับอาคารเก่าที่สำคัญให้กลายเป็นร้านค้าของแบรนด์ชื่อดัง

.

หรืออาคาร Warehouse hotel ที่ประเทศสิงคโปร์  ที่มีการปรับอาคารโกดังเก่าให้กลายเป็นโรงแรมเป็นต้น

—————————–

  • The right of people’s memories 

กลับมาที่สถานีรถไฟหัวลำโพง แน่นอนว่าชาวไทยย่อมคุ้นเคยกับสถานีแห่งนี้อย่างดี เป็นศูนย์กลางรถไฟของกรุงเทพมายาวนาน มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เป็นอาคารสไตล์ตะวันตกออกแบบโดยมาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาลีชื่อดังในยุค ร.5 – ร.6 คนเดียวกับที่ออกแบบอาคารตะวันตกมากมายหลายที่ในไทย รวมถึง ตึกไทยคู่ฟ้าด้วย นอกจากตัวอาคารตะวันตกด้านหน้าแล้ว สถานียังโดดเด่นด้วยโครงสร้างโค้งประทุนครึ่งวงกลม ออกแบบโดยวิศวกรชาวเยอรมัน ช่วงพาดกว้างกว่า 50 เมตร โดยไม่มีเสาตรงกลาง เป็นโครงสร้างที่ล้ำยุคอย่างมากในไทยในยุคนั้น

.

แต่ละคนย่อมมีความทรงจำต่อสถานีรถไฟหัวลำโพงแตกต่างกันไป คำถามคือสิทธิและคุณค่าของความทรงจำผู้คนต่ออาคาร มีคุณค่าเพียงพอจะอนุรักษ์อาคารหลังนั้นไหม จะไม่สร้างตึกใหญ่โตทับมันได้ไหม 

ผมก็ไม่อาจตอบได้ในกรณีของประเทศเรา แต่อยากยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ของรัฐบาลที่ให้คุณค่ามรดกวัฒนธรรมกับความทรงจำผู้คน 

—————————–

  • The preserving memories

อ้างอิงข้อมูลจากเพจ Cool kangaroos ซึ่งเป็นเพจที่เขียนด้านสถาปัตยกรรมออสเตรเลีย ได้พูดถึง Federation square ในเมลเบิร์นประเทศออสเตรเลีย เป็นลานสาธารณะของเมือง รายล้อมด้วยอาคารกล่องสีเทา เปิดใช้งานเมื่อปี 2002 กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และจัดงานสำคัญของเมือง อาทิ งานปีใหม่เป็นต้น


.

เมื่อมีข่าวการทุบอาคารที่ Federation square เพื่อสร้างเป็นสโตร์ราวปี 2017 บรรดาชาวเมืองต่างออกมาประท้วงเพื่อให้เก็บรักษาอาคารแห่งนี้เอาไว้ แม้ผู้ออกแบบ Federation square จะบอกว่าทุบได้ไม่เป็นไร ผมไม่ได้ออกแบบสวยขนาดนั้น สร้างใหม่ได้ของสวยกว่าเดิมไม่ดีหรือ และทางรัฐก็บอกว่าทุบทำใหม่ได้จุดแลนมาร์คแห่งใหม่ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วยนะ

.

แต่สุดท้าย เสียงของประชาชนและผู้คนก็ชนะ จากความหวงแหนของผู้คนชาวเมลเบิร์นกว่า 1 แสนคนที่ยื่นต่อรัฐ ให้เก็บรักษาอาคารและลานเอาไว้ ปกติพวกอาคารมรดกวัฒนธรรมหรืออาคารอนุรักษ์ในออสเตรเลียต้องอายุเกิน 50 ปีขึ้นไปจึงจะขึ้นทะเบียนได้ แต่อาคารนี้ได้รับการจดทะเบียนแม้จะอายุเพียง 15 ปี

.

ซึ่งการทุบอาคารหรือปรับปรุงอาคารในออสเตรเลียจะต้องได้รับความเห็นชอบและรับฟังจากผู้คนในพื้นที่เสียก่อน เพราะอาคารมันได้รับการผูกพันกับความทรงจำของผู้คนในเมืองไปแล้ว ไม่มีใครที่จะมีสิทธิ์มาเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้คน เราจึงมักเห็นอาคารที่เก็บรักษาของเดิม ฟาสาดเก่า หน้าตาอาคารหลังเก่าเอาไว้ แล้วมีอาคารใหม่สร้างอยู่ด้านบน หรือภายในเปลี่ยนฟังก์ชั่นตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจ อาจเรียกว่าเป็นการประนีประนอมกัน 

.

อาคาร และภาพจำที่ผู้คนผูกพันและมีความทรงจำร่วม ยังได้รับการเก็บรักษา พร้อมกับการใช้งานใหม่ เรื่องราวไม่ถูกทำลายจนเหลือศูนย์

—————————–

เป็นที่น่าสนใจว่า การให้ความสำคัญของความทรงจำผู้คนต่ออาคาร กับการทุบสร้างใหม่ในไทย จะหาจุดลงตัวร่วมกันได้เมื่อไหร่และที่จุดไหน จากเคสต่างๆ ในต่างประเทศ อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่า มันมีความเป็นไปได้ผมยังคงหวังว่าประเทศไทยเราจะให้ความสำคัญกับอาคาร และความเกี่ยวพันกับผู้คนต่างๆมากขึ้น 

.
อ้างอิง

https://archcritik.com/2020/01/17/architecture-of-memory-on-the-relevance-of-memory-in-architecture/
.

หากท่านใดสนใจกระเบื้อง จาก Kenzai สามารถติดต่อ-สอบถามได้ที่

Inbox : http://m.me/kenzaiceramics

Line : https://lin.ee/8OWMij2

Tel : 02 692 5080-90

#Kenzaiceramics #Floortile #Walltile

Related Posts

Your cart

No products in the cart.